วันพุธที่ 2 พ.ค. 2555 ทางศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี (ศพร.) ได้จัดเสวนาใหญ่ ที่ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในหัวข้อ
“การตายของเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี จากการโดยสารรถยนต์ในเทศกาลสงกรานต์ ปี 2555 และ ตลอดปี 2554 และแนวทางป้องกัน”
ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีนี้( 2555 ) ผู้คนที่ต้องตายจากอุบัติเหตุจราจรไม่ได้ลดลงเลย แถมผู้ที่เสียชีวิตยังเป็นเด็กถึง 10 % ( ตายกว่า 320 ราย เป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปี จำนวน 32 คน)
แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ในปีนี้
** เด็กที่ตายส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 60! )กระเด็นออกมาตายนอกรถ
** เด็กที่ตายทั้งหมดไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย และ ไม่ได้ใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก
โดยในที่ประชุมได้มีการเล่า case study โดยนักวิจัยที่ไปลงพื้นที่ด้วยตนเอง
Case ที่ 1 ด.ญ. นก ( 7 ขวบ ) คุณแม่ และลุกสาวนั่งหน้ารถ คุณแม่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย...
ในขณะที่คุณเอ ขับรถกะบะ 4 ประตู มุ่งตรงเข้าเมืองระยอง เพื่อพาภรรยาไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลระยอง ในขณะนั้นมี ภรรยานั่งอยู่ที่นั่งด้านหน้าซ้าย(เธอไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย) มีน้องเนกลูกสาวคนเล็กวัย 7ขวบ นอนหนุนตัก และมีลูกสาวคนโตวัย 12 ขวบนั่งอยู่เบาะนั่งหลังรถ
เมื่อรถของคุณเอ วิ่งมาถึงบริเวณสี่แยกตะพง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยองอันเป็นเวลาเดียวกับคุณแหม่ม ที่ขับรถเก๋ง วิ่งสวนมาจากตัวเมืองระยองเพื่อจะเลี้ยวขวาไปหาดแม่รำพึง
รถทั้งสองต่างวิ่งผ่านไฟเขียว รถกะบะของคุณเอวิ่งพุ่งเข้ามาชนทางด้านซ้ายรถเก๋งของคุณแหม่ม จากนั้นรถกะบะนั้นก็หมุนคว้าง แล้วก็ไถลไปข้างหน้าราว 5 เมตร และคว่ำลง ส่วนรถเก๋งตัวถังด้านซ้ายยุบ
คุณเอหมดสติไปชั่วครู่ เมื่อลืมตาขึ้นก็พบว่าภรรยาของตน ร่างทะลุกระจกหน้ารถไปนอนอยู่บนพื้นถนน ลูกสาวคนโตนอนหลับตาอยู่เบาะหลัง ส่วน ด.ญ.นก(ลูกสาวคนเล็ก)ศีรษะทะลุกระจกข้างซ้ายของรถ และอยู่ในท่าแนบพื้นถนน(รถคว่ำ) สักครู่เดียวภรรยาคุณเอลุกขึ้นมาได้แล้วตรงเข้ามาอุ้มลูกสาวที่อยู่ในสภาพหมดสติ และยังหายใจเฮือกๆ
ในขณะที่คุณเอขยับเขยื้อนออกจากรถ แล้วเปิดประตูค่อยๆดึงตัวลูกสาวคนโตออกมาจากรถอย่างทุลักทุเล
จากนั้นมีหน่วยกู้ภัยมาช่วยนำคุณเอ๋และครอบครัวไปที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลระยอง คุณเอ๋ ภรรยาและลูกสาวคนโตบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ทั้งหมดนั่งรออากรของฟ้าใสอยู่ราว 30 นาที จากนั้นแพทย์ผู้รักษาก็ออกมาแจ้งว่า “นก” ลูกสาวคนเล็ก...เสียชีวิตแล้ว
--------------------------------------------------------------------------
Case ที่ 2 คุณแม่(คาดเข็มขัดนิรภัย) อุ้มลูกน้อย เด็กวัย 8 เดือน นั่งหน้ารถ และกำลังให้นมลูก...
ในขณะที่คุณพ่อ ขับรถเก๋ง โดยมีคุณแม่ นั่งอยู่ด้านหน้ารถ ขณะที่กำลังให้นม(นมแม่)แก่ลูกชายวัย 8 เดือน
เมื่อขับรถมาถึงบริเวณถนนสายหนึ่ง ที่ สี่คิ้ว ปากช่อง จ.นครราชสีมา
บังเอิญพบหลุมใหญ่หลุมหนึ่งอย่างไม่ทันระวังจึงหักพวงมาลัยหลบทันทีรถจึงเสียหลักพลิกข้าง
เป็นเหตุให้ ร่าง และศีรษะของลูกน้อยหลุดลอยจากอ้อมกอดแม่ที่กำลังให้นมอยู่แท้ๆ
ไปกระแทกกับประตูและคอนโซนหน้าภายในรถคันดังกล่าว และเสียชีวิตทันที !
(ในแต่ละปี * มีเด็กอายุน้อยกว่า 14 ปี ประสบอุบัติเหตุรถโดยสาร รถยนต์ ปิกอัพ
หรือรถตู้ 5,500 รายต่อปี หรือ15 คนต่อวัน
**บาดเจ็บรุนแรงต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,400 คนต่อปี
และ *** เสียชีวิตรวม 70 คนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นปิกอัพ 1,190 ราย รถยนต์ 170 ราย)
จะเกิดอะไรขึ้นกับลูกน้อยของคุณ ?
หากว่า....รถยนต์ มีการเบรกอย่างกะทันหัน- มีการหักเลี้ยวอย่างฉับพลัน หรือ- มีการชนอย่างรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นในทันทีก็คือ ...ร่างของเด็กๆจะหลุดลอยจากที่นั่ง
* ไปอัดกับแผงคอนโซนหน้ารถ
* ไปปะทะกับประตูรถ แล้วลอยละลิ่วออกนอกรถ หรือ
* พุ่งทะลุกระจกหน้ารถ แล้วกระเด็นออกไปนอกรถ
ด้วยสรีระอันบอบบางของเด็กๆ จึงอาจทำให้...กระดูกซี่โครง,แขน,ขา แตกหัก
เยื่อหุ้มปอด,เยื่อหุ้มหัวใจ รวมทั้งอวัยวะภายในต้องชอกช้ำ หรือ ฉีกขาด
โดยเฉพาะศีรษะของเด็กๆ ที่ต้องกระแทกของแข็งอย่างรุนแรง ทำให้ และ ชั้นมีเลือดคั่งในสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความพิการ หรือ เสียชีวิต...
- เข็มขัดนิรภัย และ ถุงลมนิรภัย คือนวัตกรรมที่ช่วยปกป้องชีวิตของคนในห้องโดยสาร แต่มีข้อแม้คือ ...ต้องเป็นผู้โดยสารที่มีอายุเกิน 9 ปีขึ้นไป หรือ มีความสูงตั้งแต่ 140 ซ.ม. ขึ้นไป...เท่านั้นมิฉะนั้นมันก็อาจกลายเป็นตัวการทำอันตรายต่อเด็กๆอย่างรุนแรงและ คาดไม่ถึง
- อย่าให้เด็กเล็กนั่งหน้ารถ แม้คุณจะอุ้มเด็กบนตักหรือกอดเด็กแน่นๆแถมคาดเข็มขัดนิรภัยแน่นหนก็ตาม ก็ไม่ได้ช่วยให้เด็กปลอดภัยเลย เพราะความเป็นจริงก็คือ...แรงมหาศาลของการปะทะของจากการชน หรือแรงฉุดของการเบรกกระทันหันนั้นมันเกินกำลังที่พ่อแม่จะยึดลูกอยู่ หนำซ้ำน้ำหนักของพ่อแม่ก็มักจะไปอัดทับลูก เพิ่มความเสี่ยงให้แก่ลูกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์แรงปะทะแรงเหวี่ยงมันมหาศาลเกินกว่าที่จะช่วยอะไรได้ โอกาสที่ลูกจะหลุดจากมือแล้วพุ่งทะลุกระจกออกไปนอกรถจึงมีสูง
- เด็กวัยไม่เกิน 9 ขวบ หรือ สูงน้อยกว่า 140 ซ.ม. การให้เด็กคาดเข็มขัดนิรภัยในรถ นอกจากจะไม่ได้ช่วยเรื่องความปลอดภัย มันจะกลายเป็นจุดเสี่ยง
เนื่องจากเด็กยังตัวเล็ก ทำให้สายเข็มขัดแทนที่จะพาดบนหน้าตัก และ แนบบริเวณเชิงกราน แต่กลับมารัดตรงท้องน้อย
ส่วนเส้นที่ควรพาดที่หน้าอก และ ไหล่ ก็กลับมารัดที่ลำคอของเด็ก ดังนั้น หากรถเบรกอย่างกะทันหัน
หรือ มีการชน เข็มขัดจะทำอันตรายแก่ ไขสันหลัง , อวัยวะภายในช่องท้องของเด็ก
สายเข็มขัดเส้นที่พาดผ่านบริเวณลำคอ ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ท่ออากาศหายใจที่บริเวณคอได้
- เนื่องจากการพองตัวของถุงลมนิรภัยนั้น มันมีความเร็วถึง 320 กม. / ชั่วโมง ความรุนแรงมากมายขนาดนี้จึงเป็นอันตรายต่อเด็กๆอย่างยิ่ง เด็กๆ(ไม่เกิน 9 ขวบ)
จึงไม่ควรนั่งหน้ารถ โดยเฉพาะรถที่มีถุงลมนิรภัย
(แล้วอย่าลืมนะครับว่า ถุงลมนิรภัยนั้น เป็นเพียงส่วนเสริมความปลอดภัยเมื่อใช้เข็มขัดนิรภัยเท่านั้น( supplemental restraint system ) มันจึงจะมีประสิทธิภาพต่อเมื่อคุณ(ผู้ใหญ่ หรือ เด็กโต)ใช้ควบคู่กับการรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย รวมทั้งอาจเกิดอันตรายเป็นอย่างยิ่งหากไม่ได้รัดเข็มขัด เพราะใบหน้า ศีรษะ และหน้าอกจะปะทะเข้ากับถุงลมนิรภัยอย่างรุนแรงนั่นเอง)
“เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก” ทางเลือกที่ปลอดภัย สำหรับลูกน้อยวัยไม่เกิน 9 ปี .....
สถิติจาก US Centers for Disease Control and Prevention (CDC)
ของ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า
เบาะนิรภัยสำหรับ วัยทารก .. .ลดอัตราเสี่ยงตายได้ 69 %
เบาะนิรภัยสำหรับ วัย 1 - 4 ปี ..ลดอัตราเสี่ยงตายได้ 47 %.
เบาะนิรภัยสำหรับวัยที่มากกว่า 5 ปี ลดอัตราเสี่ยงตายได้ 45 %
และ ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงได้ถึง 50 %
หากลูกของเรามีอายุไม่เกิน 9 ปี สิ่งที่จะช่วยปกป้องความชีวิตของพวกเขาก็คือ
เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในวัยต่างๆ ซึ่งจะต้องใช้ให้ถูกวัยถูกขนาดด้วยนะครับ...
เท่าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด แบ่งเป็น 3 แบบ ซึ่งคุณประโยชน์ของมันก็คือ ...
เด็กๆในวัย อนุบาล หรือ วัยเรียน ( 5- 10 ปี )
เบาะนิรภัยที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ เรียกว่าBooster seat
ซึ่งจะช่วยยกตัวเขาให้สูงขึ้น เพื่อทำให้ใช้เข็มขัดนิรภัยในรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระทั่งวันใดที่เขาโตประมาณ 140 ซม แล้วแล้ว Booster seat
ก็อาจหมดความจำเป็น เพราะนั่นหมายถึง ลูกสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยป้องกันภัยได้เช่นเดียวกับคุณพ่อคุณแม่
ขณะเดียวกัน เบาะนิรภัยก็อาจกลับกลายเป็นภัยแก่ลูก
จึงต้องป้องกันไว้ก่อนดังนี้ครับ....
- จัดวางในตำแหน่งที่ถูกต้อง นั่นคือ วางที่เบาะหลังของรถ (ขอย้ำอีกครั้งเถอะนะครับว่า เด็กวัยไม่เกิน12 ปี จะต้องนั่งที่เบาะหลังของรถเท่านั้น...)
- สายคาดจะต้องไม่หลวม หรือ แน่นจนเกินไป ( ทดสอบโดยใช้นิ้วสอดเข้าไประหว่างตัวลูก และ สายคาด หากเลื่อนนิ้วขึ้นลงได้ แสดงว่ากระชับพอดีแล้ว
- ติดตั้งให้แน่นหนา เข็มขัดนิรภัยในรถต้องสอดกับที่ล็อก หรือมีตัวล็อกกับเบาะเพื่อเสริมให้มั่นคงมากขึ้น
เพื่อความมั่นใจ ให้ลองขยับเบาะนิรภัยดู ถ้าเลื่อนไปมาได้มากกว่า 1 นิ้ว แสดงว่ายังติดตั้งเบาะนิรภัยหลวมเกินไป เบาะอาจหลุดได้ ทำให้พลิกคว่ำลงมาเมื่อหยุดรถกะทันหัน
การเหยียบเบรกอย่างแรง
ทำให้เข็มขัดนิรภัยที่คาดตัวทำหน้าที่อย่างเต็มที่ นั่นคือกระตุกรั้งอย่างแรงทันที โดยเฉพาะสายที่คาดตรงท้องน้อย ...ซึ่งหากเป็นเด็กๆนั่นจึงทำจะถึงกับจุกแน่นอยู่พักใหญ่ และปวดท้องในเวลาต่อมา.....
มักเกิดรอยพกช้ำที่บริวณหน้าท้องระดับสะดือ และที่บริเวณข้างคอ เมื่อกดๆหน้าท้องพบว่าเด็กไม่เกร็งท้อง ทั่วๆไปท้องยังนิ่มอยู่ กดลึกๆไม่มีอาการเจ็บนอกจากกดบนรอยพกช้ำ กดแล้วปล่อยให้หน้าท้องกระเด้งขึ้นมาก็ไม่มีอาการปวดเช่นกันการตรวจดังกล่าวช่วยบอกเราว่ามีอะไรรบกวนเยื่อบุช่องท้องภายในหรือไม่เช่นเลือดตกในช่องท้องเป็นต้น
** ให้ประคบรอยพกช้ำด้วยผ้าเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็ง สัก 24 ชั่วโมงจึงเปลี่ยนเป็นผ้าชุบน้ำอุ่นแทน วันแรกต้องสังเกตุอาการหน้าท้องแข็งเกร็ง อาเจียน หรือจุกแน่น ไว้ด้วย หากมีอาการดังกล่าวต้องพามาพบแพทย์เพราะการบาดเจ็บอวัยวะภายในอาจแสดงอาการออกมาในภายหลังได้
ในหลายต่อหลายประเทศในขณะนี้
ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเด็กในการโดยสารรถยนต์โดยการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก เพื่อช่วยสร้างเสริมความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กๆ
บทความจาก : ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก