โดย...ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์
ตลอดระยะเวลาแห่งการศึกษาเล่าเรียน ที่นานนับสิบปีขึ้นไปคงมีสักครั้ง หรือหลายครั้ง หรืออาจเป็นกิจวัตร ที่เด็กๆจะต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะประเภท “เรือเมล์”.... “ห่วงใยในความปลอดภัย” ย่อมเป็นความรู้สึกแรกของคุณพ่อคุณแม่ทันทีที่ลูกก้าวออกจากบ้านครับ..ต่อจากนี้ไป ก็คือคำแนะนำที่จะให้พวกเขานำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อปลอดภัยของลูกๆ และคุณพ่อคุณแม่ก็จะคลายความกังวลลงไปได้ไม่มากก็น้อย
เมื่อต้องนั่งเรือเมล์ (รวมทั้งเรือทัศนาจร , เรือสำราญ , เรือหางยาว , เรือแจว ...ฯลฯ...) สาเหตุแห่งการเกิดอุบัติภัยทางเรือ เช่นเรือชนกัน , เรือรั่ว,เรือชำรุด,เบียดแซงกันในระยะกระชั้นชิด,ถูกกระแสน้ำวนดูด,เรือเกยตื้น หรือ มีสิ่งกีดขวางทั้งใต้น้ำ บนน้ำหรือ พายุ รวมทั้งความประมาทเลินเล่อของคนควบคุมเรือ เช่น เมาเหล้า-หลับใน- หรือ ปล่อยให้พวกมือใหม่หัดขับ คนที่ไม่ชำนาญมาขับหรือมาถือท้ายแทน
แม้ว่าสถิติอุบัติเหตุทางเรือจะไม่เกิดขึ้นถี่เช่นอุบัติเหตุทางบก แต่ใช้ว่าจะไม่เกิดขึ้นเลย หนทางที่ดีคือ ควรสอนลูกๆว่า ......
1 ) สิ่งที่เสมือนเป็นกฎเหล็กของการโดยสารทางเรือ ก็คือ ถ้าว่ายน้ำไม่เป็น-ห้ามลงเรือ! แม้จะฟังดูเถรตรง แต่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมันเสี่ยงเกินไปที่จะรอให้ใครมาช่วยเมื่อเกิดเหตุจมน้ำ เพราะหากเกิดเหตุทุกคนย่อมจะเอาตัวเองให้รอดก่อน หรือแม้มีผู้ที่มาช่วยก็ไม่แน่ว่าจะกลับทำให้จมน้ำตายทั้งคู่หรือไม่ ในเมื่อวิธีการช่วยคนจมน้ำนั้น ควรต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนจนชำนาญ หรือแม้แต่จะรอให้หน่วยงานผู้ชำนาญมาช่วย ก็ไม่แน่ว่าจะทันเวลา ในขณะที่การขาดอากาศหายใจนั้นหากเกินกว่า 4 นาทีแล้ว ก็ถือว่าวิกฤตหนักเลยทีเดียว
2 ) หลายครั้งที่เกิดความไม่ค่อยสบายใจ เมื่อได้เห็นนักเรียนร.ด.ในชุดฝึก ที่ต้องสวม
ไอ้ไอ๊บ(รองเท้าบู๊ทรัดเชือกแน่นหนา และ หนัก ) ลงเรือกันพึ่บๆพั่บๆ เพราะคิดไม่ออกจริงๆว่าใครที่สวมรองเท้าลักษณะเช่นนั้น หากเกิดเหตุเรือล่ม-จมน้ำ แล้วจะว่ายน้ำช่วยตนเองให้พ้นภัยได้อย่างไร!?? ( จะดีกว่ามั้ย...ถ้าจะใส่รองเท้าแตะขึ้นเรือ โดยหิ้วไอ้โอ๊บไปเปลี่ยนบนฝั่ง? หรือจะโดยสารทางรถในวันที่ต้องฝึกร.ด. ? ) การอยู่บนเรือจะต้องเตรียมทั้งร่างกายและจิตใจให้พร้อมทุกขณะ โดยเฉพาะต้องเตรียมสละอะไรก็ตามที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเอาชีวิตรอดในยามที่เกิดเรือล่ม-จมน้ำ ( เช่น กระเป๋านักเรียน, กระเป๋าเดินทาง, รองเท้า, เข็มขัด,ถุงเท้า หรือแม้แต่ กระเป๋าเงิน ...ฯลฯ...)
3 ) เมื่อขึ้นมาถึงบนเรือแล้ว ให้นั่งประจำที่ ไม่ต้องเลียนแบบพระ-นางเรื่องไททานิกโดยการไปยืนโต้ลมที่หัวเรือไม่ต้องยืนชมวิวที่ท้ายเรือ ไม่ต้องนั่งที่กราบเรือ(โดยเฉพาะหากที่นั่งบนเรือยังมีเหลือ) และ ห้ามขึ้นไปนั่งบนหลังคาเรือที่มักพบเห็นเสมอ ในยามไปทัศนาจรทางเรือ
4 ) อุบัติเหตุเรือล่มในหลายกรณีเกิดจาก ผู้โดยสารเฮโลสาระพามาทางด้านใดด้านหนึ่ง( โดยมากเทมาทางกราบเรือ) จะด้วยเพราะเกิดเหตุลมกรรโชกแรง-คลื่นซัด-ร้อนแดด- หรือเปียกฝนหรืออะไรก็ตาม แต่ผลก็คือ ทำให้เรือเสียสมดุล และเอียงกะเท่เร่ แล้วก็มีสิทธิจมลงได้ในที่สุด
5 ) ทุกครั้งก่อนที่จะไปยืนรอเรือโดยสาร แล้วคิดว่าจะไปยืนรอบนโป๊ะ ให้คิดถึงคำว่า
“โป๊ะมรณะ”ไว้ด้วยนะครับ เพราะมันเป็นคำที่บรรดาหนังสือพิมพ์มักนำมาพาดหัวข่าว ในกรณีที่เกิด “โป๊ะล่ม” แม้กระนั้น ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้คนมากมายทั้งผู้ใหญ่และเด็กมายืนออกันอยุ่บนโป๊ะเรือ เพื่อหวังจะได้ขึ้นเรือก่อน ทั้งๆที่การยืนบนปะนั้นแสนจะโงนเงนชวนหวาดเสียว แถมการรองรับน้ำหนักก็มีอย่างจำกัด หากรุมแห่กันเข้ามายืนมากๆก็มีสิทธิที่เรือหรือโซ่ที่เหนี่ยวไว้จะขาดผึง และโป๊ะก็จะพลิก แล้วเหตุการณ์โศกนาฏกรรมก็จะเกิดขึ้นอีก ดังนั้น การคอยเรือบนฝั่ง หรือบนท่าเรือ จึงน่าจะเป็นหนทางที่ปลอดภัยกว่าครับ
6 ) เมื่อถึงวันหยุด หรือช่วงปิดเทอมการท่องเที่ยวทางเรือนับว่าเป็นความสุขสันต์ ที่หลายๆครอบครัวปรารถนา แต่สิ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือคำพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา(ฟังได้จากทางวิทยุ และที.วี.) หากได้แจ้งว่ามีคลื่นลมแรง มีพายุก่อตัว-เตือนว่าเรือยังไม่ควรออกจากฝั่ง ฯลฯ...ซึ่งนั่นก็หมายถึง จะต้องงดเดินทางโดยทางเรือทันที
7 ) ชั่วโมงแห่งการรีบเร่ง ทำให้ทุกคนเบียดเสียดและยื้อแย่งกันขึ้นเรือ แม้ว่าเรือยังจอดเทียบท่าไม่สนิทนั่นก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ ทั้งหัวร้างข้างแตก ทั้งตกน้ำตกท่า หรือแม้แต่โป๊ะทรุดและเรือล่ม ฯลฯ.... ใช้หลักการเพื่อความปลอดภัยเช่นเดียวกับการใช้รถเมล์ซิครับ คือ...ถ้าเรือคนแน่น ก็รอคันหลังดีกว่า.............
8 ) หากเรือที่กำลังแล่นอยู่นั้นเกิดอาการโคลงเคลง เพราะโดนคลื่นซัด หรือน้ำพลิ้วจากเรือคันอื่นก็อย่าตกใจมากนัก ตั้งสติครับและจับพนักที่นั่ง หรือจับราวไว้ให้มั่น แล้วนั่งนิ่งๆเพื่อกันการลื่นล้ม หรือไหลเอียงไปรวมกันในด้านใดด้านหนึ่งของเรือ จนเรือขาดความสมดุลย์และเสียการทรงตัว
หากเรือล่ม....จะทำอย่างไร ???
- ตั้งสติไว้ให้มั่น
อย่าตกใจจนเกินไป พยายามว่ายน้ำให้ห่างจากเรือ เพื่อป้องกันเรือพลิกคว่ำแล้วมาครอบเราไว้ รวมทั้งให้ระวังใบจักรเรือที่ยังทำงาน(หมุนติ้วๆ) โดยว่ายน้ำไปให้ห่างๆเข้าไว้ และห้ามคว้าหรือจับกราบเรือ เพราะอาจโดนน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือและได้รับอันตรายจากใบจักรเรือ
- ความตกใจกลัวจนเกินไป ทำให้หลายๆคนว่ายน้ำกันอย่างสุดชีวิตแล้วผลที่ตามมาก็คือ ความเหนื่อยแทบขาดใจ และหมดแรงในที่สุด ยิ่งหากฝั่งยังอยู่อีกไกลโขก็ยิ่งอยู่ในภาวะอันตราย
ดังนั้น เมื่อว่ายน้ำห่างออกจากบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว ก็ให้ใช้เพียงการพยุงตัวหรือลอยน้ำไว้ก่อนจะได้ไม่เหนื่อยมาก มองดูวัสดุที่ลอยน้ำได้ และพอหาได้ในเวลานั้น
หรืออาจมีคนบนฝั่งช่วยโยนลงมาให้ก็ใช้ประคับประคองเพื่อให้ตัวได้ลอยตามกระแสน้ำค่อยๆพัดพาไปเข้าสู่ฝั่ง ไม่ต้องว่ายน้ำอย่างหักโหม แต่ให้ประคองตัวไว้ เพื่อรอคนมาช่วย หรือประคองไว้พอหายเหนื่อยจึงค่อยๆว่ายกลับเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย